วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ระบบการพัฒนาอาชีพครู

ระบบการพัฒนาอาชีพครู
โดย ผศ.ดร.สังคม ภูมิพันธุ์

ความนำ
          เมื่อเอ่ยถึง " ครู" คนส่วนมากนึกถึงผู้ที่ยืนอยู่หน้าชั้นเรียนมีกระดานดำ(สีเขียว)อยู่ข้างหลังและในมือถือชอล์คสีขาว(ที่จริงชอล์คมีหลายสี)อาจแต่งเครื่องแบบสีกากีหรือสีของกรมหรือกระทรวงกำหนด
หรือสีประจำโรงเรียนนอกจากนั้นอาจแต่งสีฉูดฉาด ซีดเซียว แล้วแต่จะนึกลึกๆลงไปในความหมายของครูที่หลายคนเปรียบเทียบไว้ก็คือ " ครูคือเรือจ้างที่คอยพานาวาชีวิตของนักเรียนให้ไปถึงฝั่งโดยสวัสดิ
ภาพและอื่นๆในทำนองเดียวกัน
          ผู้เขียนมิบังอาจเสนอแนะหรือบังคับให้ผู้อ่านคิดเช่นนั้นเช่นนี้ได้แต่ต้องการเน้นย้ำให้เกิดความเข้าใจในอาชีพครูว่า อาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต้องการใช้สหวิทยาการ(Inter - disciplinary)มาประกอบ
เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพต้องวิเคราะห์วิจัยผู้เรียน กระบวนการเรียน สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆตลอดเวลาไม่แตกต่างอันใดกับอาชีพหมอ แต่การวินิจฉัยโรคมีลักษณะแตกต่างกันเท่านั้นเพราะอาชีพหมอวินิจฉัยเรื่องความเจ็บป่วย แต่ครูวินิจฉัยโรค " ชีวิต" ทั้งชีวิตเลยก็ว่าได้ ดังนั้นจึงมีประโยคคุ้นๆหูให้ได้ยินมากมาย  อาทิ
          " สอนเด็กให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ "
          " สอนเขาไม่ให้เป็นลิงเป็นค่าง "
          " สอนเขาเพื่อให้ไปประกอบอาชีพที่ดี "
          " สอนเขาให้รับผิดชอบต่อสังคม "
          " สอนเขาเพื่อให้เขารู้ "
                ฯลฯ
          และนี้เองเป็นความหมายของชื่อบทความนี้
   " เด็กสาวซื่อแซ่ซ้องสรรเสริญ " นั้นคือทำอย่างไรจะทำให้เด็กสาวที่ซื่อนั้นได้สร้างคุณงามความดีในชีวิตเขาเพื่อให้เราได้แซ่ซ้องสรรเสริญ เป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อสังคมของเราจากประโยคนี้เองทำให้เกิด
ระบบการพัฒนาอาชีพครูที่ผู้เขียนได้คิดและจินตนาการขึ้นมาคือ
        เด็ก     สาว    ซื่อ    แซ่    ซ้อง    สรรเสริญ                                                        
        ดูด      สับ     ซับ    ซึม    ซัด     สุด  ส่าย
                    สมรรถภาพของความเป็นครู
          ระบบการพัฒนาอาชีพครู จากประโยค " เด็กสาวซื่อแซ่ซ้องสรรเสริญ " และ
 " ดูดสับซับซึมซัดสุดส่าย " สามารถนำมาเขียนเป็นแผนภูมิได้ดังนี้
                               ซึม
               ดูด        สับ         ซับ       สุด
                               ซัด
                              ส่าย
              
 แผนภูมิที่ 1 ระบบการพัฒนาอาชีพครู
   องค์ประกอบของระบบมีดังนี้คือ
1.ดูด (Input) หรือตัวป้อนสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับอาชีพครูก็คือ การไม่หยุดนิ่งในทางวิชาการต้องศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์วิจัย เพื่อให้มีวามรู้ที่ก้าวหน้า กว้างไกลตลอดเวลา ต้องดูดความรู้ข่าวสาร ข้อมูลจากแหล่ง
วิชาการต่างๆ ด้วยการฟัง พูด อ่าน เขียน เสวนากับทุกชนชั้นทุกอาชีพ เพื่อให้มีโลกทัศน์ที่กว้างขวางที่ ดิ่งด่ำ ล้ำลึก รู้รอบ และทะลุลอดปลอดโปร่ง การดูดดังที่กล่าวต้องใช้ทั้งอายตนะภายนอกคือ การได้สัมผัส
ด้วยประสาททั้ง 5 เพื่อการรับรู้ และอายตนะภายในเพื่อการรับรู้ด้วยจิตใจ  นำความรู้  ความคิด เจตนารมณ์ต่างๆมาวางแผนทั้งระยะยาวและระยะสั้น กำหนดจุดประสงค์ของการเรียนการสอนและจัดทำแผน
การสอนรายวันรายชั่วโมงให้ชัดเจนและจุดประสงค์ควรเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สามารถ สังเกตุได้อย่างชัดเจน การตั้งจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมมีคำย่อเป็นภาษาอังกฤษให้จดจำได้ง่ายๆคือ
          SMART = ความเฉลียวฉลาด เท่ห์ สง่างาม  มีคำอธิบายดังนี้
          S = Sensible    คือ ความเป็นไปได้
          M = Measurable  คือ สามารถวัดได้
          A = Attainable  คือ ระบุสิ่งที่ต้องการ
          R = Reasonable  คือ ความมีเหตุผล
          T = Time        คือ มีขอบเขตเวลาการดำเนินงาน
         สิ่งที่ต้องคำนึงในปัจจุบันนี้ก็คือ การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ เพื่อช่วยให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น  นอกจากนั้นครูต้องเป็นผู้รวดเร็ว ฉับไว เปิดใจ
 และเปิดช่องทางที่จะรับรู้ข่าวสาร ข้อมูลทางวิชาการจากสื่อทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นสื่อบุคคล สื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อ อีเลกทรอนิกส์ต่างๆโดยเฉพาะสื่อมวลชนที่เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งต่อวิถีการดำเนินชีวิตของ
มนุษย์เราจนกล่าวได้ว่าสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล (Information Society) ที่ข้อมูลข่าวสารโหมกระหน่ำเข้าไปในชีวิตส่วนตัวของเรามากขึ้นเท่านั้น ตัวผู้เรียนเองก็ได้รับความรู้ข่าวสารจากสื่อ
เหล่านั้นตลอดเวลา หากครูไม่มีความรวดเร็ว ฉับไว และทันสมัยแล้วจะหล้าหลังในทางวิชาการกว่าผู้เรียนมาก  ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้สอนต้องวิเคราะห์ผู้เรียนให้ถ่องแท้ด้วยและจงระลึกเสมอว่าผู้ที่มีข่าวสารข้อ
มูลคือผู้ที่มีอำนาจ (Information is power)
          2. สับ ซับ ซึม ซัด (Process)
          2.1 สับ หมายถึง การวิเคราะห์แยกย่อยความรู้ ข้อมูลทางวิชาการเหล่านั้น
ด้วยขันธ์ 5 ทั้งโดยวิธีนิรนัยและอุปนัยเพื่อให้มองเห็นหลักการทฤษฎีที่แท้จริง ครูจะต้องมีวิธีการสอนที่จะให้ผู้เรียนสามารถสับความรู้ที่มีอยู่และที่ได้รับจากการศึกษาค้นคว้าให้แหลกละเอียดและย่อยให้มอง
เห็นเป็นสัจจะของวิชาการแล้วจึงสำรอกออกมาโดยการประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับ สถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นหลักการทางจิตวิทยาต้องนำมาใช้ในการกระตุ้นเร้าให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้ อยาก
เรียนด้วยวิธีการปูพื้นความรู้กว้างๆเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้เรียนจะเรียนให้เขามองเห็นความสำคัญของเนื้อหา รวมไปถึงการประเมินความรู้พื้นฐานหรือความรู้เดิมของผู้เรียนก่อน
          เมื่อสับหรือวิเคราะห์แยกย่อยความรู้เนื้อหาวิชาแล้วครูต้องสามารถใช้ลำดับขั้นการสอนและรูปแบบ  (Model) หรือใช้กรรมวิธีในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้
ผูเรียน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของการสอนซึ่งกรรมวิธีเหล่านั้นมีรากฐานของเหตุผล ประสบการณ์ ทฤษฎีการเรียนรู้และทฤษฎีจิตวิทยาเป็นแกนนำ ผู้เขียนอยากย้ำกระบวน
การการเรียนการสอนคือ " เร้าจุดเดิมเสนอแนะแสดงย้อนประจำ " สามารถอธิบายสั้นๆได้ดังนี้
   เร้า   หมายถึง การเร้าความสนใจของผู้เรียนให้มีความอยากรู้อยากเรียน
   จุด    หมายถึง การแจ้งจุดประสงค์ที่ชัดเจนอันเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้ตรวจสอบเสมอๆในขณะเรียน
   เดิม   หมายถึง การตรวจสอบความรู้เดิมของผู้เรียนจะโดยวิธีทดสอบก่อนเรียนหรือวิธีอื่นๆแล้วแต่จะเหมาะสม
   เสนอ  หมายถึง การเสนอความรู้เนื้อหาสาระอย่างมีระบบมีขั้นตอนที่ชัดเจนเข้าใจง่าย
   แนะ   หมายถึง แนะนำวิธีการเรียนให้กับผู้เรียนเนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันดังนั้นผู้สอนต้องแนะนำวิธีเรียนที่สอดคล้องกับความแตกต่างของแต่ละคนนั้น
   แสดง หมายถึง การแสดงของผู้เรียนที่บ่งบอกถึงความรู้ความเข้าใจในเนิ้อหาสาระ ตลอดจนสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
   ย้อน   หมายถึง การตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับของผู้สอนโดยมีระบบการตรวจสอบที่รอบคอบเหมาะสม
   ประ   หมายถึง การประเมินทั้งกระบวนการและผลผลิต
   จำ หมายถึง การแนะนำ ตอกย้ำ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีวิธีการจดจำความรู้อย่างถาวร
 Image
ลำดับขั้นการสอนและรูปแบบสามารถแยกได้เป็น 2 ขั้ว คือแบบคิดมาบอกอยู่ปลายขั้วหนึ่งและแบบปล่อยให้คิดอยู่อีกขั้วหนึ่งและมีแบบนำให้คิดอยู่กึ่งกลางขั้ว

            คิดมาบอก                นำให้คิด                      ปล่อยให้คิด
          (Expository)      (Guided Discovery)      (Discovery)
           -บรรยาย                      -IDOS             -CF-ID-AP
           -นิรนัย                      -SPCP             -OEPC
                                           -อุปนัย
                                           ฯลฯ
                                       สืบสวนสอบสวน
          สำหรับการสอนประเภทครูคิดมาบอก ซึ่งมีวิธีการบรรยายและวิธีการสอบแบบนิรนัยนั้นจะไม่ขอกล่าวในรายละเอียดมากเนื่องจากเป็นวิธีการที่คุ้นเคยและใช้กันอยู่อย่างกว้างขวาง เพียงแต่จะกล่าว
สั้นๆว่าการสอนแบบนิรนัย (Deductive teaching)มีลำดับขั้นตอนการสอน  3  ประการคือ
      1. ให้คำนิยามหรือหลักการหรือให้นักเรียนจดจำ
      2. อธิบายและยกตัวอย่างด้วยการพูด บรรยาย หรือ ปาฐกถา
      3. บอกการนำไปใช้ให้นักเรียนจดจำไว้เป็นแบบอย่าง
          ส่วนการสอนแบบบรรยายนั้น มีหลายประการที่ทำให้เกิดการล้มเหลว ซึ่งส่วนมากจากตัวผู้บรรยายเองดังนี้
      1. ขาดความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่แท้จริง ตลอดจนรูปแบบการสื่อสารกับผู้เรียน ส่วนมากเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว
      2. ตัดขาดจากผู้ฟังโดยไม่สนใจว่าผู้ฟังจะมีความรู้สึกหรืออารมณ์อย่างไร
      3. จดจ่ออยู่กับโน้ตการบรรยายเป็นส่วนใหญ่
      4. มีน้ำเสียงที่ราบเรียบขาดการเน้นคำ ทำให้ขาดพลังการโน้มน้าว
      5. เนื้อหาการพูดส่วนมากขาดการอ้างอิงถึงหรือเกี่ยวพันกับสภาพปัจจุบันบ้างครั้งมีเนื้อหากว้างเกินไป
      6. ไม่ค่อยตระหนักว่าผู้ฟังมีพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเช่นไร
      7. ไม่สามารถแสดงให้ผู้ฟังเห็นความสำคัญของเนื้อหาที่ต้องเรียน
      8. ลักษณะการบรรยายเป็นแบบหันรีหันขวางไม่เป็นไปตามลำดับที่เหมาะสม
      9. ไม่มีการปรับการบรรยายเพื่อให้สอดคล้องกับเวลา
      10.ใช้เวลามากในการปูภูมิหลังของเรื่องที่บรรยายจนไม่มีเวลาในการให้ความสนใจในเรื่องหลักการสำคัญที่จะบรรยาย
      11.ใช้คำศัพท์ที่พิสดารยากในการทำความเข้าใจ
      12.มัวอ้างอิงผู้รู้โดยมิได้สร้างความสนใจในเนื้อหา
      13.นำข้อความของผู้รู้มาอ้างอิงจนพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น
      14.ให้ความสำคัญกับการใช้คำที่ถูกต้องมากจนเกินไป
      15.อ้างถึงเอกสารหรือหนังสือโดยที่ผู้ฟังไม่สามารถหาอ่านได้
      16.แสดงความขัดแย้งกับผู้รู้อื่นๆในประเด็นที่ไม่น่าจะเป็นหลักสำคัญอะไร
      17.ไม่พยายามปรับสภาพน้ำเสียง ท่วงที และการเน้น แม้รู้ว่าผู้ฟังกระสับกระส่าย เบื่อหน่ายหรืออาจจะหลับก็ได้
      18.ให้ความสนใจและคำพูดในสาระที่อยู่นอกประเด็นหลัก
      19.ขาดการใช้สื่ออื่นๆประกอบเพื่อสร้างความสนใจ
      20.ใช้เสียงเบาหรือดังเกินไปอาจเกิดความรำคาญได้
          การสอนประเภทนำให้คิด (Guided discovery)
การสอนแบบนี้มีรูปแบบการสอนมากมาย ขอหยิบยกมากล่าวพอเป็นตัวอย่างดังนี้
1. แบบ IDOS (นำ พัฒจัดย่อ) มีลักษณะดังนี้
       ขั้นแนะนำ      ขั้นพัฒนา        ขั้นจัดระบบ       ขั้นสรุปย่อ
    Introduction   Development   Organization   summarization
สาระสำคัญของรูปแบบนี้ก็คือมีขั้นการนำเข้าสู่บทเรียนด้วยวิธีต่างๆแล้วครูเสนอวัตถุประสงค์การสอนมีการวางแผนการเรียนร่วมกันโดยใช้การอภิปราย ค้นคว้าเอกสาร ทัศนศึกษารวบรวมวัสดุสิ่งของต่างๆ
นำมาจัดระบบข้อมูล เสนอหน้าชั้นอาจมีอุปกรณ์ต่างๆประกอบเช่น แผนภูมิ รูปภาพ เอกสาร และขั้นสุดท้ายมีการสรุปร่วมกันของครูและนักเรียน จะเห็นได้ว่า รูปแบบนี้สามารถยืดหยุ่นได้ในแต่ละขั้นตอน
2. แบบ Operant Conditioning ของ สกินเนอร์ (B.F Skiner) (เสนอกำแก้ซ้ำวัด) มีลักษณะดังนี้
   นำเสนอ        กำหนดปัญหา       ให้แก้ปัญหา       ฝึกซ้ำ      วัดผล
                                การตอบกลับ      การตอบกลับ
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้ก็คือ ครูพิจารณาว่าผู้เรียนมีพื้นความรู้ในเนื้อหาที่จำเป็นแล้วหรือยังถ้ายังก็อาจบรรยายให้อ่านตำรา ศึกษาจากสื่อ แต่ถ้าผู้เรียนมีความรู้แล้วอาจจะข้ามขั้นการนำเสนอไปได้ แล้วครู
เสนอปัญหาให้ผู้เรียนช่วยกันแก้ปัญหาในขั้นนี้จะใช้คำถามหรือเสนอสื่ออุปกรณ์ก็ได้ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการสอน   หลังจากนั้นให้ผู้เรียนตอบสนองต่อปัญหาหรือปฏิบัติกิจกรรมครูต้อง
เสริมแรงและให้ข้อมูลป้อนกลับตลอดเวลาและให้ผู้เรียนทำกิจกรรมเดิมซ้ำหลายๆครั้งจนเกิดระสิทธิภาพและแน่ใจว่าผู้เรียนมีความรู้เกิดทักษะ การวางเงื่อนไขเพื่อให้ผู้เรียนปฏิบัติและตอบสนองได้ต้องนำ
มาใช้และสุดท้ายต้องมีการประเมินวัดผล เพื่อตรวจสอบว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่เพียงใด
3. แบบเพียเจต์ (J.Piaget) ของเพียเจต์ซึ่งหลักทฤษฎีการเรียนรู้ มีลักษณะดังนี้
                        ให้สัมพันธ์ความรู้
     เสนอความขัดแย้ง      คำถาม          ให้ปฏิบัติการ    ให้จัดระบบ
                        เสนอแนะแนวคิด    คำถาม        คำถาม
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้ก็คือครูเสนอปัญหาหรือเหตุการณ์วัสดุต่างๆที่เป็นปัญหา ท้าทายให้ช่วยกันแก้ปัญหา เสร็จแล้วตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนระลึกถึงความรู้ที่มีอยู่สัมพันธ์กับปัญหาขณะเดียวกันครูเสนอ
แนะแนวคิด วิธีการที่นักเรียนจะใช้เพื่อแก้ปัญหาเสร็จแล้วนักเรียนลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหาโดยยึดหลักที่ว่า การปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดโดนครูคอยถามคำถาม แต่ไม่บอกวิธีการไม่มีการสาธิต
หรือยกตัวอย่างแต่อย่างใดและประการสุดท้ายให้นักเรียนสรุปจัดระบบความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ โดยครูเป็นผู้คอยถามคำถามเพื่อให้มีการสรุปและจัดระบบความรู้นั้นเอง สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการกล่าวชม
เชยกระตุ้นตลอดเวลา
4. แบบ SPCP โดยอาศัยทฤษฎีกระบวนการเรียนรู้ทางจิตวิทยา มีลักษณะดังนี้
   Sensation    Perception     Conception    Principles
    รู้สึก          กำหนดรู้         มโนทัศน์         หลักการ
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้ก็คือ การเร้าความรู้สึกให้กับผู้เรียนโดยการให้สัมผัสด้วยประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ เสร็จแล้วครูซักถามเพื่อหยั่งการกำหนดรู้ของนักเรียนให้ตรงกับจุดมุ่งหมายอาจมีการอภิปรายให้
ข้อมูลด้วย หลังจากนั้นครูใช้คำถามให้นักเรียนนิยามหรืออธิบายมโนทัศน์ใหม่ๆและประการสุดท้ายกระตุ้นให้นักเรียนสร้างและค้นหาหลักการโดยอาศัยมโนทัศน์ที่มีอยู่ เกี่ยวกับเรื่องที่เรียนนั้น
5. แบบรวมย่อยรวม มีลักษณะดังนี้
          Whole           Part          Whole
         ส่วนรวม          ส่วนย่อย        ส่วนรวม
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้ มีดังนี้ ขั้นแรกครูเสนอสาระเป็นส่วนรวมด้วยวิธีต่างๆเช่นแสดงให้ดู แจกเอกสาร ใช้สื่อต่างๆ เสร็จแล้วจึงเสนอสาระที่จัดไว้เป็นส่วนย่อยๆและเพื่อให้นักเรียนจดจำได้ดีจะให้นัก
เรียน วิเคราะห์ จำแนก จัดหมวดหมู่หาความสัมพันธ์ฝึกปฏิบัติ เล่นเกมส์ ทดสอบ เป็นต้น ขั้นสุดท้ายครูจึงทบทวนกฏที่เป็นสาระโดยวิธีย่อและรวมกฏเกณฑ์ต่างๆอีกครั้งหนึ่ง
6. แบบความรู้เชิงภาษาของดีเชคโค (Dececco) มีลักษณะดังนี้
     วัตถุประสงค์      ปรับพฤติกรรม    ดำเนินการสอบสวน    วัดผล
   รูปแบบนี้ใช้สอนภาษาและข้อเท็จจริงซึ่งมีลักษณะจำเพาะเจาะจงมีสาระสำคัญคือขั้นแรกครูเสนอวัตถุประสงค์ของการสอนว่าต้องการให้นักเรียมีพฤติกรรมเช่นไรโดยเฉพาะเป็นจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม
 เสร็จแล้วครูพิจารณาความพร้อมของนักเรียน เสนอเนื้อหาที่ไม่เป็นระบบเพื่อสังเกตุดูความรู้พื้นฐานของนักเรียนแล้วจึงวัดผลก่อนเรียน (Pre-test) เพื่อให้ครูสามารถวิเคราะห์สื่อกิจกรรมและวิธีการสอน
ให้เหมาะสมกับความรู้เดิมของผู้เรียนหลังจากนั้นจึงดำเนินการสอนโดยการให้ฝึกฝนอภิปราย ท่องจำ กำหนดระยะเวลาฝึก บอกแนวทางการตอบสนอง เป็นต้น ขั้นสุดท้ายคือการวัดและประเมินผล เพื่อตรวจ
สอบผลการเรียนรู้ของนักเรียน
7. แบบวิธีอุปนัย (Inductive Approach) มีลำดับขั้นตอนดังนี้
   เสนอมโนทัศน์ทางบวก   ระบุคุณลักษณะ    จำแนก    บอกมโนทัศน์  วัดผล
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้ มีลักษณะดังนี้คือขั้นแรกครูให้ตัวอย่างที่เป็นมโนทัศน์เชิงบวกซึ่งอาจเป็นรูปภาพของจริงหรือให้ประสบการณ์ตรงเสร็จแล้วให้นักเรียนระบุคุณลักษณะร่วมกันของตัวอย่างหรือ
มโนทัศน์ที่ครูนำเสนอเสนอซึ่งอาจใช้การนิยามศัพท์การอธิบายเป็นต้นหลังจากนั้นจึงให้นักเรียนจำแนกแยกแยะเปรียบเทียบโดยครูให้ตัวอย่างใหม่ที่มีความแตกต่างกันต่อจากนั้นให้นักเรียนชี้ชัด ระบุลง
ไปว่าตัวอย่างที่ให้ครั้งแรกนั้นเป็นอย่างไร มีลักษณะใดนั้นคือการบอกมโนทัศน์ที่สำคัญ ขั้นตอนสุดท้ายจึงวัดผลตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของนักเรียน
8. แบบการสอนมโนทัศน์ของดีเชคโค (Dececco) มีลักษณะดังนี้
  แจ้งวัตถุประสงค์     ให้มโนทัศน์ทางวาจา    แสดงตัวอย่างมโนทัศน์เชิงบวกและเชิงลบ
  แสดงตัวอย่างใหม่ๆ   แสดงตัวอย่างเชิงบวก  ตรวจสอบการเรียนรู้   กำหนดนิยาม
  ให้ตอบสนอง        ใหม่ๆ
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้มีดังนี้คือขั้นแรกครูแจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนต่อจากนั้นสนทนาเกี่ยวกับมโนทัศน์ ซึ่งอาจมีบัตรคำประกอบด้วยก็ได้แล้วครูจึงแสดงตัวอย่างต่างๆที่มีทั้งเชิงบวกคือเกี่ยว
ข้องกับเนื้อหาที่จะสอนกับเชิงลบคือเกี่ยวกับเนื้อหาอื่นๆควบคู่กันไปและมีการนำตัวอย่างใหม่ๆมาให้ดูให้พิจารณาซึ่งมีทั้งเชิงบวกและลบเช่นกัน ต่อจากนั้นครูจึงตรวจสอบว่านักเรียนมีความแม่นยำ จดจำ
และเข้าใจเนื้อหาที่สอนมากน้อยเพียงใดและขั้นสุดท้ายครูจะให้นักเรียนอธิบายมโนทัศน์ด้วยคำพูดของเขาว่ามโนทัศน์ที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่สอนนั้นมีลักษณะเช่นไร
9. แบบการสอนหลักการของดีเชคโค (Dececco) มีลักษณะดังนี้
   แจ้งวัตถุประสงค์  ระลึกมโนทัศน์พื้นฐาน   จัดมโนทัศน์เป็นแบบแผน   สาธิตหลักการ
                 อธิบายหลักการ       ตรวจสอบการเรียนรู้
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้มีดังนี้คือ ขั้นแรกครูแจ้งวัตถุประสงค์ ต่อจากนี้ครูแสดงอุปกรณ์และใช้คำถามเพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนมโนทัศน์ที่เป็นพื้นฐานเสร็จแล้วให้นักเรียนจัดแบบแผนของมโนทัศน์
โดยที่ครูมีข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้เด็กได้ทราบว่าที่ตัวเองจัดแบบแผนนั้นถูกต้องหรือไม่จากนั้นครูตั้งปัญหาให้นักเรียนช่วยกันพิจารณาและแก้ปัญหา มีการแสดงและสาธิตสิ่งที่ปฏิบัตินั้นแล้วจึงอธิบายหลักการ
ทั้งหมด ขั้นสุดท้ายเป็นการตรวจสอบว่านักเรียนเรียนรู้ได้ถูกต้องหรือไม่เพียงใด
10. แบบการสอนความสัมพันธ์ (หลักการ) ของกาเย่ (Gagne') มีลักษณะดังนี้
   แจ้งวัตถุประสงค์  เตรียมนักเรียน  กำหนดความสัมพันธ์  สาธิต  สรุปความสัมพันธ์
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้มีดังนี้  ขั้นแรกครูแจ้งวัตถุประสงค์ เสร็จแล้วถามนักเรียนเพื่อให้นึกถึงมโนทัศน์ที่เป็นพื้นฐานอันถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อม หลังจากนั้นครูชี้แจงกฏและหลักการโดยยึดความ
สัมพันธ์ของมโนทัศน์เดิมกับหลักการใหม่ ต่อจากนั้นให้นักเรียนนำหลักการไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ และขั้นสุดท้ายมีการสรุปกฏและหลักการที่สมบูรณ์
11. แบบการสอนการแก้ปัญหาของดีเชคโค (DeCeceo)  มีลักษณะดังนี้
  แจ้งวัตถุประสงค์ ตรวจสอบพื้นฐาน ระลึกมโนทัศน์ หาวิธีการแก้ปัญหา ตรวจผลการแก้ปัญหา
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้มีดังนี้คือ ขั้นแรกครูแจ้งจุดประสงค์จากนั้นตรวจสอบดูว่านักเรียนมีความรู้ มโนทัศน์หรือหลักการเกี่ยวกับปัญหานั้นมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่มีต้องสอนวิธีการแก้ปัญหาก่อนและ
ต้องให้นักเรียนสามารถระลึกถึงมโนทัศน์เดิมกับหลักการใหม่ๆที่สัมพันธ์กันด้วยวิธีการสาธิตบางสิ่งบางอย่าง แล้วให้นักเรียนคิดค้นหาวิธีแก้ปัญหาในขั้นสุดท้ายคือตรวจผลการแก้ปัญหาและนำไปใช้
แก้ปัญหาอื่นๆที่สามารถถ่ายโอนกันได้
12. แบบการสอนเจตคติและค่านิยมโดยอาศัยทฤษฎีของแบบดูรา (Bandura) มีลักษณะดังนี้
    แบบอย่าง    สนใจ     ทรงจำ    กระทำ     เสริมแรง     เจตคติ
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้คือ ครูแสดงแบบอย่างเจตคติและค่านิยมที่ดีให้นักเรียนดูอาจใช้ภาพยนต์ ข่าวสาร หรือสื่อต่างๆและครูแสดงความสนใจ ชื่นชม พอใจในสิ่งนั้นๆให้นักเรียนได้เห็นอันเป็นแบบ
อย่างที่ดี จากนั้นครูกระตุ้นนักเรียนด้วยคำถามเพื่อให้นักเรียนจดจำไว้ว่าสิ่งที่เสนอนั้นมีคุณประโยชน์หรือน่าสนใจในแง่ใด และต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงหรือกระทำสิ่งนั้นด้วยตัวเขาเอง ครูเป็น
คนกล่าวชมเชย ให้ข้อเสนอแนะอันเป็นการเสริมแรงทางบวก เพื่อให้เกิดเจตคติที่ดีต่อไป
13. แบบการสอนทักษะคือทั้งแบบลองผิดลองถูกและแบบอธิบายประกอบการสาธิต ซึ่งมีลักษณะดังนี้
  แสดงทักษะที่ถูกต้อง   อธิบายประกอบ   นักเรียนฝึกทักษะ   ข้อมูลย้อนกลับ  วัดผล
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้มีดังนี้คือ   ครูสาธิตทักษะที่จะสอนให้นักเรียนดูพร้อมทั้งอธิบายประกอบทักษะนั้นๆเพื่อให้นักเรียนสามารถอธิบายลำดับขั้นและการใช้ประกอบทักษะได้จากนั้นให้นักเรียนฝึก
ทักษะด้วยตนเองเพื่อสร้างความมั่นใจ และมีทักษะที่ถูกต้อง ครูแจ้งผลย้อนกลับเพื่อเป็นการตรวจสอบผลการปฏิบัติทักษะของนักเรียนอันถือว่าเป็นการวัดผลนั้นเอง
          การสอนประเภทปล่อยให้คิด (Discovery)
หมายถึง การสอนที่ครูช่วยเหลือแนะนำเพียงเล็กน้อยหรือไม่แนะนำใดๆเลย การสอนแบบนี้เชื่อว่าดีกว่าแบบอื่นในแง่การฝึกให้คิด แต่การวิจัยพบว่าแบบนำให้คิดนั้นได้ผลดีที่สุด ดังนั้นการเลือกแบบการสอน
ควรคำนึงถึงจุดประสงค์เป็นหลัก การสอนประเภทปล่อยให้คิดมีรูปแบบที่รู้จักอยู่   2  รูปแบบคือ
1. แบบการสอนเชิงยุทธศาสตร์ของทาบา (TaBa) มีลักษณะดังนี้
  Concept Formation    Interpretation      Application of Principle
                                         of Data                  and  Fact
   สร้างมโนทัศน์          แปลความหมายข้อมูล       ประยุกต์หลักการความจริง
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้มีดังนี้คือขั้นแรกครูใช้คำถามเพื่อให้ผู้เรียนสร้างมโนทัศน์ (CF) คำถามที่ใช้อาจเกี่ยวกับการนับและแจกแจง  การระบุคุณสมบัติหรือการจัดหมวดหมู่ขั้นที่  2 ครูให้นักเรียนตีความ
หมายหรือแปลความหมายข้อมูล (ID) โดยใช้เหตุผลเชิงอุปนัยคำถามที่ครูใช้ถามในขั้นนี้ต้องช่วยให้สามารถระบุความคล้ายคลึงและความแตกต่างได้ขั้นสุดท้าย ครูให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดโดยใช้เหตุผล
เชิงนิรนัยเพื่อประยุกต์หลักการ  (AP) ครูจะใช้คำถามให้นักเรียนทำนายผลหรือตั้งสมมุติฐานและหาข้ออธิบายเพื่อตรวจสอบสมมุติฐานที่ตั้งไว้นั้น
2. แบบการสอนสืบสวนสอบสวน (Inquiry method) หรือเรียกว่า OEPC มีลักษณะดังนี้
  Observation     Explanation      Prediction       Control
  สังเกตุ(ปัญหา)  อธิบาย(จากปัญหา)     ทำนาย(สิ่งอื่น)     ควบคุม(ประยุกต์ใช้)
   สาระสำคัญของรูปแบบนี้มีดังนี้คือ  ขั้นแรกครูสร้างแรงจูงใจโดยการเสนอปัญหาด้วยวิธีการทดลองให้ดูหรือด้วยวิธีการอื่นๆที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กับความรู้เดิมของผู้เรียน ขั้นที่สอง ครูอธิบายปัญหาและให้
ผู้เรียนช่วยกันสร้างทฤษฎีหลักการและสมมุติฐานที่มีความสัมพันธ์กัน ขั้นที่สามครูให้นักเรียน ทำนาย  ทดสอบ และสรุปกฏเกณฑ์เพื่อตอบสมมุติฐานดังกล่าวและขั้นที่สี่ครูให้นักเรียนได้บอกวิธีการนำกฏ
เกณฑ์ไปใช้   จะเห็นว่ารูปแบบนี้เน้นการหาคำตอบด้วยการถามและคิดตอบด้วยผู้เรียนเอง  โดยเน้นหนักไปในทางการคิดไม่ใช้การปฏิบัติต่อปัญหา รูปแบบนี้นิยมใช้สอนเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์
เพื่อฝึกการคิดค้นอย่างนักวิทยาศาสตร์และนำไปใช้กับวิชาอื่นๆในบางเรื่องที่เน้นพฤติกรรมการคิด   รูปแบบ  OEPC  นี้เป็นรูปแบบที่อยู่ระหว่างการนำให้คิดกับการปล่อยให้คิดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคการสอน
ของครูว่าต้องการเน้นหนักในวิธีการใด
   รูปแบบการสอนแบบปล่อยให้คิดที่น่าจะส่งเสริมและเป็นคุณลักษณะตลอดจนเนื้อหาแบบไทยๆก็คือรูปแบบการสอนแบบ อริยสัจ  4 ที่มีลักษณะเป็นการสอนเชิงวิทยาศสาตร์มีรูปแบบดังนี้

        ทุกข์           สมุทัย            นิโรธ          มรรค
    กำหนดปัญหา       ตั้งสมมุติฐาน      ทดลองค้นคว้า     สรุปนำไปใช้
   ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารูปแบบการสอนแบบอริยสัจ 4 ต้องการให้ผู้เรียนได้เกิดความรู้ความเข้าใจในปัญหาด้วยตนเองแล้วหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการหลากหลายและทดลองค้นควาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน
การสรุปและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
          2.2  ซับ  หมายถึงการสัมผัสเพื่อให้เกิดความรู้โดยการมีข่าวสารข้อมูลที่ละเอียดครูผู้สอนต้องเป็นผู้ที่มีความก้าวหน้าในเชิงวิชาการอยู่เสมอๆหากจัดประเภทของมนุษย์ออกเป็น 6 ประเภทคือ หัวไวใจสู้
ขอดูทีท่า เบิ่งตาลังเล หัวเหหัวดื้อ งอมืองอเท้า และไม่เอาไหนเลย ครูต้องอยู่กลุ่มแรกคือหัวไวใจสู้ มิฉะนั้นอาจตามไม่ทันผู้เรียนหรือตามโลกวิชาการไม่ทันก็ได้ ดังนั้นต้องพัฒนาศักยภาพของคนเสมอๆ
         2.3 ซึม หมายถึงการเกิดความซาบซึ้งมีจิตใจรักและชอบในงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่คือการจัดสภาพการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดด้วยการศึกษาหาวิธีการต่างๆอันหลากหลาย
(Variety) มาใช้และต้องไม่ลืมว่า" ถ้าไม่ได้ทำงานที่ตนเองรัก  ก็จงรักงานที่ตัวเองทำ  " เพื่อจะได้สร้างความรู้สึกที่ดีต่องานเพื่อนร่วมงานและผู้เรีนนด้วย  การสร้างความรักความชอบมีเจตคติที่ดีต่องานที่ทำอยู่
นั้นครูต้องหายุทธวิธีต่างเพื่อโน้มน้าวใจให้กับตนเอง ขณะเดียวกันการสอนก็ควรหายุทธวิธีต่าง เพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้เรียนรักชอบวิชาที่ตนเองสอนนั้นด้วย
         2.4 ซัด หมายถึงการตรวจสอบกระบวนการเรียนการสอนอยู่เสมอๆเพื่อหาข้อบกพร่องแล้วหาวิธีแก้ไขให้ดีที่สุดครูต้องจดจำอยู่เสมอว่าการสอนนั้นคือการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากเรียน ไม่ใช่การ
บอกหรือยัดเยียดเนื้อหาให้กับผู้เรียน (Teaching is inspire not instruct) และทำอย่างไรผู้เรียนจึงจะเรียนได้และเรียนได้ดีมิใช่ได้เรียนแต่เป็นการเรียนที่รู้จักวิธีการเรียน (Learning how to learn) อย่างมี
ประสิทธิภาพ ไม่สิ้นเปลืองเวลา งบประมาณและพลังงานนั้นเอง
          ในกระบวนการ สับ  ซับ ซึม ซัด  (Process) นี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และบทบาทของครูคือการใช้เทคโนโลยีการสอนเข้ามาประยุกต์ใช้ซึ่งครูรู้จักเทคโนโลยีการสอนหรือสื่อการสอนเป็นอย่าง
ดี ผู้เขียนขอเสนอระบบการใช้สื่อการสอนที่ได้คิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้จดจำได้ดียิ่งขึ้นมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า  "SPARED"  อันหมายถึงการสะสมเก็บรวบรวมและค้นคว้าเพื่อเก็บไว้เป็นอะไหล่อยู่ตลอดเวลา 
นั้นคือครูต้องมีความรู้ที่เป็นอะไหล่  มีสื่ออุปกรณ์และวิธีการที่เป็นอะไหล่อยู่เสมอเพื่อให้การเรียนการสอนสามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม SPARED มีรายละเอียดดังนี้
           S = State Target Audieness and Objectives
    หมายถึงการกำหนดกลุ่มผู้เรียนและจุดประสงค์ในการกำหนดกลุ่มผู้เรียนต้องมีการวิเคราะห์ผู้เรียนอย่างละเอียดก่อน  ทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ  ความพร้อม ความรู้พื้นฐานต่างๆเพื่อนำไปกำหนดจุดประสงค์
ของการนำสื่อชนิดต่างๆมาใช้ให้สอดคคล้องกับการกำหนดจุดประสงค์ของการเรียนดังนั้นต้องยึดวัตถุประสงค์ของการเรียนเป็นหลัก
           P = Planning
    หมายถึงการเตรียมสื่อต่างๆให้พร้อมมีลำดับขั้นตอนของการใช้สื่อแต่ละชนิดมีการเลือกสื่อที่เหมาะสมกับตัวผู้เรียนและจุดประสงค์ที่ได้วิเคราะห์อย่างละเอียดมาแล้ว
           A = Administering
    หมายถึงการนำสื่อที่ตระเตรียมไว้อย่างดีนั้นไปใช้ตามขั้นตอนที่กำหนด
           R = Required Learners Responses
    หมายถึงการกำหนดการตอบสนองของผู้เรียนซึ่งครูต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมและแสดงออกอย่างไรบ้างและสื่อที่จะนำมาใช้นั้นครูต้องเป็นผู้ใช้หรือนักเรียนเป็นผู้ใช้เมื่อใช้สื่อ
นั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการเรียนรู้อย่างไร
           E = Evaluation
    หมายถึงการประเมินการตรวจสอบระบบการใช้สื่อเสมอๆเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง อันถือว่าเป็นการพัฒนาระบบการใช้สื่อให้ดียิ่งๆขึ้น  นอกจากนั้นอาจต้องทำการวิเคราะห์วิจัยสื่อที่นำมาใช้เพื่อให้ได้สื่อที่มี
ประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานต่อไป
           D = Diffusion
    หมายถึงการเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่มีอาชีพครูด้วยกันได้รู้ได้นำไปใช้    มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดในเรื่องระบบการใช้สื่อและวิชาการต่างๆกันอยู่ตลอดเวลาอันหมายถึงการพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพ
ชั้นสูงตลอดไป
    สุด  ( Output )
          เมื่อครูสามารถ ดูด สับ ซับ ซึม และซัด ได้อย่างมีความรู้ เข้าใจลึกซึ้งแล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน ผู้เรียนก็จะมีสติปัญญามีความรู้ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรและจุดมุ่งหมายของการศึกษา
คือการพัฒนาคนให้เจริญงอกงามมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตตภาพ  สิ่งที่การศึกษาในปัจจุบันทำได้ค่อนข้างดี คือการพัฒนาเพื่ออาชีพเพื่อสนองความต้องการพื้นฐาน  อาจกล่าวได้ว่า  เพื่อหา
อาหารให้กับปากท้อง  (Food for stomach) ได้ แต่ที่ยังมีปัญหาอยู่มากคือการหาอาหารให้กับสมอง (Food for Thought)ทังๆที่ อาหารสมองน่าสำคัญกว่าเพราะสามารถแก้ปัญหาเรื่องปากท้องได้ แต่น่าเสียดายว่า
ในส่วนนี้ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร  ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาน่าจะร่วมมือประสานใจกันแก้ปัญหา ยกระดับให้มนุษย์มีคุณภาพมากกว่านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น