วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความพอเพียงของสื่อคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียเพื่อการศึกษา


โดย...อดิศร ก้อนคำ


ในปัจจุบันเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษยเราเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต การทหาร การแพทย์ เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งในด้านการศึกษา ดังจะเห็นได้จากโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากผลของการปฏิรูปการศึกษา มีการยุบรวมสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมสามัญศึกษาและกรมวิชาการ แปลงร่างกลายมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. และมีการจัดตั้งสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนขึ้นมาเป็นหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีการศึกษานับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประเทศไทยของเราจะได้ดำเนินกิจการด้านการศึกษาให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ที่จะมุ่งเน้นการใช้สื่อการสอนที่ดี ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการศึกษา ที่ใช้คำว่าบริหารจัดการศึกษานั้น ก็เพราะว่า ในปัจจุบันเราไม่ควรที่จะคิดว่าใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนเท่านั้น เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น มีมากมายหลากหลายสิ่งที่จะใช้ในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษา จึงจำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีในส่วนของการบริหารด้วย ผู้บริหารสถานศึกษายุคใหม่นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักและสามารถบริหารจัดการในเรื่องของการผลิต จัดหาและใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน


ในส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยตอบสนองการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ก็คือ สื่อการเรียนการสอน ซึ่งปัจจุบันก็คงจะไม่พ้นสื่อการสอนประเภทบทเรียนคอมพิวเตอร์ เพราะสื่อการสอนประเภทคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีความสามารถหลากหลายที่จะรวมสิ่งต่างๆ เข้ามาอยู่ในสื่อชุดเดียวกัน หรือเรียกได้ว่าครบเครื่องเรื่องความรู้ สื่อการสอนประเภทนี้เราเรียกกันว่า สื่อคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย ซึ่งมีทั้งตัวอักษร รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียงและวิดีทัศน์ แต่สื่อมัลติมีเดียแบบใด จึงจะตรงกับความต้องการและเกิดการเรียนรู้มากที่สุด


แต่จะทำเช่นไร เมื่อประเทศไทยมีสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานถึง 3 หมื่นกว่าโรง ที่มีปัจจัยพื้นฐานต่างๆ กันออกไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของจำนวนนักเรียน จำนวนครู เศรษฐกิจ ชุมชน ฯลฯ และจำนวนสื่อที่หน่วยงานที่เพิ่งจะจัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้ก็มีไม่หลากหลายพอที่จะนำไปแจกจ่ายให้กับสถานศึกษา เพราะนอกจากเราจะคำนึงถึงเรื่องปริมาณและความหลากหลายเพียงอย่างเดียวนั้นคงไม่ได้ เราต้องคำนึงถึงเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพของสื่อด้วย


หากท่านเป็นคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษาก็จะเห็นว่ามีผลงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาหลายๆ เรื่องที่ผลิตออกมาและล้วนแล้วแต่เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยบ้าง ลิขสิทธิ์ของเอกชนบ้าง ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถนำสื่อการเรียนการสอนเหล่านี้มาคัดเลือก หรือนำมาแจกให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานของบุคคลที่จะเติบโตมาเป็นกำลังของชาติในอนาคต


เนื่องจากสื่อการเรียนการสอนที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น มีหลายชิ้นที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้แต่ในงานวิจัยเท่านั้น ไม่ได้มีการนำไปเผยแพร่โดยทั่วไป ดังนั้นหากจะทำการพัฒนาสื่อคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียเพื่อการศึกษาแล้ว เราควรที่จะหันมามองสิ่งที่มีอยู่แล้วด้วย ว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ ผนวกกับการพัฒนาสื่อชิ้นใหม่ๆ ให้เหมาะสม นั่นคือสิ่งที่นักเทคโนโลยีการศึกษาทั้งประเทศไทยควรจะหันมามอง เพื่อเป็นแรงผลักดันให้กับผู้ที่มีอำนาจในการจัดการศึกษาในภาพรวมของประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีสื่อการเรียนการสอนเหล่านี้ในส่วนกลางเพื่อให้ผู้ใช้สามารถมาหยิบนำไปใช้ได้


แนวความคิดนี้ อาจจะเป็นเพียงประกายเล็กๆ จากคนตัวน้อยๆ ที่มองเห็นเท่านั้น หากท่านมีความคิดดีๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ช่วยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเข้ามาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น